วัดป่าแสนสำราญ
ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบใกล้สถานีรถไฟอุบลราชธานี และสำนักทางหลวงที่ ๗ อุบลราชธานีอยู่ท่ามกลางชุมชนขนาดใหญ่ มีชุมชนแวดล้อมที่สำคัญคือ ชุมชนแสนสำราญ ชุมชนแหลมทอง ชุมชนคำน้ำแซบ ชุมชนอยู่เย็น อาณาเขตของวัดในปัจจุบัน ทิศเหนือยาว ๓๒๐ เมตร ติดต่อกับถนนศรีสะเกษ๑ ทิศใต้ยาว ๓๒๐ เมตร ติดต่อกับถนนเทศบาล๑๔ ทิศตะวันออกยาว ๒๐๘ เมตร ติดต่อกับถนนศรีสะเกษ ๒ ทิศตะวันตกยาว ๑๙๗ เมตร ติดต่อกับถนนสถานี | |
ประวัติวัดแสนสำราญ วัดแสนสำราญ เริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช๒๔๗๖ ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๒๙ ถนนศรีสะเกษ ๑(ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ) ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินบริเวณที่ตั้ง วัดมีเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ๓ งาน ๖๓๓/๑๐ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๙๕๓๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๔กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๖ เขตวิสุงคามสีมามีขนาดกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ปัจจุบันมี พระครูประจักษ์อุบลคุณ (อัมรินทร์ ธนสาโร) เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลวารินชำราบ(ธรรมยุต) พระครูธีรปัญญาภรณ์ (ธีรเดช เปมสีโล)เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และเลขานุการเจ้าคณะตำบลวารินชำราบ (ธรรมยุต) ความเป็นมา แรกเริ่มเดิมที่ก่อนแต่ยังไม่ได้สร้างเป็นวัดมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ปั่น” เดินรุกขมูลเที่ยวธุดงค์มาจากอำเภอภูเขียวได้มาพักแรมอยู่ร่มไม้ใกล้กับสถานีรถไฟอุบลราชธานี นายเทศ ยิ่งยศ กับนายสอน พนักงาน ห้ามล้อรถไฟอุบลราชธานีกับนายเพ็ง วิมลกลาง พนักงานตรวจรถได้เห็นแล้วจึงอาราธนาให้ท่านมาพักรุกขมูลอยู่โคนต้นไม้กระบกในป่าที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดแสนสำราญในปัจจุบันนี้ เมื่อเวลาที่พระภิกษุปั่นจะหลีกไปท่านได้แนะนำกับสัปบุรุษทั้งหลายว่า อาตมานี้มีอายุพรรษาน้อยและมีความรู้น้อยยังเป็นพระผู้น้อยอยู่ ไม่สามารถจะสร้างให้เป็นวัดได้ขอให้ญาติโยมทั้งหลายไปกราบอาราธนา พระผู้มีความรู้ความสามารถและมีอายุพรรษามากๆ ทั้งสามารถเป็น เจ้าอาวาสได้ด้วยให้มาจัดการก่อสร้างเป็นวัดเถิดจึงจะถาวรมั่นคงสืบๆ ไป หลังจากนั้นต่อมา บรรดาคณะสัปบุรุษทั้งหลายเมื่อได้ทราบว่า พระมหาเสาร์ นาควโร และพระมหาสมบูรณ์ วัดบรมนิวาส พระนครได้แสวงหาที่วิเวกเที่ยวจาริกมาพักอยู่บำเพ็ญสมณธรรมที่เสนาสนะป่าใกล้ บ้านโพธิ์ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้พร้อมใจกัน ไปอาราธนาให้ท่านทั้งสองมาจัดการก่อสร้างให้เป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ท่านพระมหาเสาร์ นาควโร และพระมหาสมบูรณ์เมื่อได้รับอาราธนาแล้วก็มีความเต็มใจ ได้มาอยู่บำเพ็ญสมณธรรมตามสมณวิสัย โดยอาศัยรุกขมูลร่มไม้เป็นที่วิเวกอยู่เท่านั้น ครั้นญาติโยมทั้งหลายปรารภที่จะให้เป็นวัดวาอารามสืบต่อไป จึงได้นำความขึ้นกราบเรียนต่อสมเด็จพระมหาวีระวงศ์สังฆนายก (เมื่อครั้งยังไม่ได้เป็นสมเด็จและสังฆานายก) เจ้าคุณพระศาสนดิลกและเจ้าคุณ พระศรีธรรมวงศาจารย์เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้นเมื่อเห็นชอบแล้วจึงอนุมัติให้พระมหาเสาร์ นาควโร และพระมหาสมบูรณ์ ร่วมกันคิดอ่านดำเนินการก่อสร้างต่อไป ฯ พระมหาเสาร์ นาควโร และพระมหาสมบูรณ์เมื่อได้รับอนุมัติเช่นนั้นแล้ว จึงมาคิดว่าเสนาสนะป่าที่จะเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นได้ต้องมี พระกัมมัฏฐานมาอยู่เป็นหลักเป็นฐานเมื่อเป็นเช่นนี้จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องนิมนต์พระกัมมัฏฐานมาจากจังหวัดอื่น ฯ เมื่อได้ความชัดดังนี้แล้วจึงได้ขอรายงานจากท่านเจ้าคุณ พระศาสนดิลกและท่านเจ้าคุณพระศรีธรรมวงศาจารย์ ให้คณะสัปบุรุษประจำจังหวัดอุบลราชธานีมีนายโพธิ์ ส่งศรี เป็นต้นไปกราบอาราธนาพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มาจากจังหวัดนครพนมพร้อมด้วยคณะพระกัมมัฏฐานประมาณ ๓๐ รูป ให้กลับคืนมาอบรมสั่งสอนประชาชนพลเมืองในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี คณะสัปบุรุษทั้งหลายพร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาชายหญิงเป็นจำนวนมากจึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖เป็นต้นมา รายนามคณะสัปบุรุษทั้งหลายที่ลงมติให้สร้างและร่วมก่อสร้างสำนักสงฆ์แห่งนี้นับว่าเป็นบุคคลสำคัญควรระบุชื่อไว้ดังนี้ ๑. เจ้าคุณพระศรีธรรมาโศกราชสมุห์เทศาภิบาลมณฑลจังหวัดอุบลราชธานี ๒. หลวงนิวาส นายอำเภอวารินชำราบ ๓. นายก่าย กำนันตำบลธาตุ ๔. นายอ่อน ผู้ใหญ่บ้านหนองตาโผ่น ๕. นายบุญศรี ผู้ใหญ่บ้านวารินชำราบ ๖. นายเทศ ยิ่งยศ ๗. นายสอน พนักงานห้ามล้อ สถานีรถไฟอุบลราชธานี ๘. นายพิมพ์ ทายกวัดวารินทราราม ๙. นายเคณ สุมาลี พนักงานตรวจรถ สถานีรถไฟอุบลราชธานี ๑๐. นายพรหมแสง สิมานุรักษ์ | |
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด ก. พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง ๕๐ นิ้ว สูง ๗๕ นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ โดย นายทองดี–นางสุพัทธา จังกาจิตร์ เป็นผู้สร้างถวาย เดิมประดิษฐานอยู่บนศาลาการเปรียญหลังเก่าปัจจุบันได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นพระประธานภายในศาลาการเปรียญ หลังใหม่แล้ว (เพราะได้ทำการรื้อถอนศาลาการเปรียญหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม) ข.รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างด้วยปูนขนาดกว้าง ๑.๗๐ เมตร ยาว ๓.๘๐ เมตรยกสูงจากพื้นซึ่งได้มีการจัดงานประเพณีปิดทองนมัสการพร้อมกับการจัดงานบุญมหาชาติเป็นประจำทุกๆปี โดยปกติถือเอาวันเพ็ญกลางเดือน ๔ จากการบอกเล่าของคุณยายบุญกว้างสุรพัฒน์ และคุณยายประนอม วงศ์วิไล ทายิกาวัดแสนสำราญผู้สูงอายุ ทราบความเป็นมาได้ว่า เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีพระอาจารย์สิงห์ และพระมหาปิ่น ซึ่งได้จำพรรษาอยู่วัดแสนสำราญในขณะนั้นได้นำพาญาติโยมชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาริเริ่มกันก่อสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองแห่งนี้ขึ้นครั้นต่อมา หลวงปู่พุธ ฐานิโย (พระครูพุทธิสารสุนทร) ได้เป็นเจ้าคณะตำบล และ เจ้าคณะอำเภอตามลำดับได้นำพาญาติโยมร่วมกันก่อสร้างรอยพระพุทธ-บาทจำลองเพิ่มเติม ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๑ พระครูสีลคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาส จึงได้เริ่มก่อสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทจำลองแห่งนี้ขึ้น | |
ความสำคัญของวัดในอดีต - ปัจจุบัน วัดแสนสำราญมีความสำคัญในทางการคณะสงฆ์ในอดีตที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันและการให้ความร่วมมือกับทางราชการ ดังนี้ ๑. เป็นที่ตั้งสำนักงานเจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ(ธรรมยุต) ถึง พ.ศ. ๒๕๔๐ ๒. เป็นสถานที่อบรมศีลธรรมแก่ประชาชน ๓. เป็นสถานศึกษาปริยัติธรรม(โรงเรียนปริยัติธรรม) พ.ศ. ๒๔๘๘ จนถึงปัจจุบัน ๔. เป็นสถานศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์(ศพอ.) พ.ศ. ๒๕๓๓ - ปัจจุบัน ๕. ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานเจ้าคณะตำบลวารินชำราบ(ธรรมยุต) ๖.เป็นสถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งของทางราชการ ๗.เป็นสถานที่ประชุมกองทุนหมู่บ้านของชุมชนใกล้เคียง ๘.เป็นสถานที่ตั้งศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการและประสานงานของพระวิทยากรกองทัพธรรมกองทัพไทย ร่วมใจต้านภัยยาเสพติด จังหวัดอุบลราชธานี(โดยอนุมัติของเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุต) เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕) นอกจากนั้นนับตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๕๐๑ เป็นต้นมา คณะสงฆ์จังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุต)ได้กำหนดเอาวัดแสนสำราญเป็นสถานที่ประชุมสวดมนต์สามัคคีซึ่งเป็นกิจกรรมในพรรษาของคณะสงฆ์ธรรมยุตจังหวัดอุบลราชธานี ในวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน๑๐ โดยถือปฏิบัติเป็นประเพณีประจำทุกๆ ปี ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีต– ปัจจุบัน นับแต่ได้มีการเริ่มก่อสร้างวัดแสนสำราญ(พ.ศ. ๒๔๗๖) เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงพุทธศักราช๒๔๗๙ นับเป็นเวลา ๔ ปี ได้มีคณะพระกัมมัฏฐานที่กราบอาราธนามาจากจังหวัดนครพนมสับเปลี่ยนกันปกครองดูแลรักษามาโดยไม่ปรากฏรายนามว่าเป็นท่านผู้ใดแน่นอน หลังจากพุทธศักราช ๒๔๗๙ เป็นต้นมามีเจ้าอาวาสสับเปลี่ยนกันปกครองดูแล ดังต่อไปนี้ ๑. พระอาจารย์มหาเสาร์ นาควโร ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ – ๒๔๘๐ ๒. พระอาจารย์วิฤทธิ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๘๔ ๓. พระอาจารย์บุญมี ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๗ ๔. พระอาจารย์ไสว ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๔๙๒ ๕. พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๔๙๕ ๖. พระครูพุทธิสารสุนทร ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๕๑๑ ๗. พระครูสีลคุณาภรณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ – ๒๕๓๖ (ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอุบลคณาจารย์” นับเป็นพระราชาคณะรูปแรกนับตั้งแต่มีการสร้างวัด) ๘. พระครูอุบลเดชคณาจารย์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๐ ๙. พระปลัดอัมรินทร์ ธนสาโร ๑ ก.พ. ๒๕๔๑ – ปัจจุบัน (ปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับพระราชทานโปรดตั้งสมณศักดิ์ เป็น “พระครูประจักษ์อุบลคุณ”พระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโท) *************************** ...เปมสีโลภิกฺขุ...เรียบเรียง |
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|